พระร่วงหลังรางปืน มีความเป็นมาและตำนานที่กล่าวขานไว้อย่างไร?
มหานิยมจะเล่าให้ฟัง...
ความเป็นมาของ พระร่วงหลังรางปืน
พระร่วงหลังรางปืน ได้รับการยกย่องว่าเป็น “จักรพรรดิแห่งพระเครื่องเนื้อชิน” (เนื้อชินคือโลหะผสม มักมีตะกั่วเป็นหลัก อาจผสมเงิน ปรอท หรือโลหะอื่นๆตามสุตรและกรรมวิธีการสร้างของแต่ละอาจารย์) "พระร่วงหลังรางปืน" เป็นพระเครื่องเนื้อชินสนิมแดงที่หาได้ยากยิ่ง เนื่องจากจำนวนพระที่พบน้อยมากและพระที่พบจำนวนน้อยนั้นยังมีพระที่ชำรุดอีก ด้วย พระร่วงหลังรางปืนมีเอกลักษณ์ที่ด้านหลังเป็นร่องรางจึงเป็นที่มาของชื่อพระว่า พระร่วงรางปืนในเวลาต่อมา
พระร่วงรางปืน ปางเปิดโลก สุโขทัย |
พระร่วงหลังรางปืน เป็นพระที่ถูกลักลอบขุดจากบริเวณพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเก่าชะเลียง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย แต่เดิมพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุเป็นสถาปัตยกรรมสกุลช่างลพบุรี สร้างขึ้นเป็นพุทธาวาสโดยตรง ได้รับการปฏิสังขรณ์และแก้ไขดัดแปลงหลายครั้งหลายครา ทั้งในสมัยสุโขทัยและอยุธยา ต่อมาได้รับการขุดโดยกรมศิลปากรครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2497
พระร่วงหลังรางปืนได้ถูกคนร้ายลักลอบขุดในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2499 เวลาประมาณตี 3 คณะของคนร้ายมี 4 คน ลักลอบขุดเจาะฐานพระพุทธรูปในพระวิหารด้านทิศตะวันตกขององค์พระปรางค์ และได้งัดเอาศิลาแลงออกไปประมาณ 8 ก้อน พบไหโบราณ 1 ใบ อยู่ในโพรงดินปนทรายลักษณะคล้ายหม้อทะนน หรือกระโถนเคลือบสีขาว สูงประมาณ 16 นิ้วเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว ภายในบรรจุพระพุทธรูปสกุลช่างลพบุรี 5 องค์ คือพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรทรงเทริด เนื้อสำริด สูง 10 นิ้ว 1 องค์ พระพุทธรูปปางนาคปรก เนื้อสำริด หน้าตักกว้าง 3-4 นิ้ว 2 องค์ พระพุทธรูปนั่งในซุ้มเรือนแก้ว หน้าตักกว้าง 3-4 นิ้ว 2 องค์ และ พระร่วงรางปืน ประมาณ 240 องค์ ไหโบราณและพระพุทธรูปทั้งหมดต่อมาได้นำมาขายที่แถวๆ เวิ้งนครเกษม พระร่วงรางปืน ที่ได้ในครั้งนี้เป็นพระร่วงหลังรางปืนที่ชำรุดเสียประมาณ 50 องค์ ที่เหลืออยู่ก็ชำรุดเล็กน้อยตามขอบๆ ขององค์พระ พระที่สวยสมบูรณ์จริงๆ นับได้คงไม่เกิน 20 องค์ พระร่วงของกรุนี้เป็นพระเนื้อชินสนิมแดง ที่ด้านหลังพระร่วงกรุนี้ส่วนใหญ่จะเป็นร่องราง เลยเป็นที่มาของชื่อ"พระร่วงหลังรางปืน" และมีบางองค์ที่เป็นแบบหลังตันแต่พบน้อย และที่ด้านหลังของพระจะเป็นรอยเส้นเสี้ยน หรือลายกาบหมากทุกองค์
พระร่วงรางปืน ปางห้ามญาติ สุโขทัย |
เนื้อและสนิมของพระร่วงหลังรางปืน จะเป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดง วรรณะของสนิมออกแดงแกมม่วงสลับไขขาว สีของสนิมแดงในพระของแท้จะมีสีไม่เสมอกันทั้งองค์ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จะมีสีอ่อนแก่สลับกันไป ส่วน"พระร่วงหลังรางปืน"ของเทียมมักจะมีเสมอกันทั้งองค์ พื้นผิวสนิมมักจะแตกระแหงเป็นเส้นเล็กๆ คล้ายใยแมงมุม การแตกของสนิมมักแตกไปในทิศทางต่างๆ กันสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสนิมแดงของแท้ที่ขึ้นเต็มเป็นปื้นมักจะเป็นเช่นนี้
พระร่วงหลังรางปืน ซึ่งเป็นพระเครื่องพิมพ์หนึ่งที่มีผู้คนนิยมเลื่อมใสเป็นอันมากนั้น น่าจะขุดพบที่วัดมหาธาตุอันเป็นที่ตั้งวัดใหญ่แต่กลับไปขุดพบที่วัดพระศรีมหาธาตุ(วัดพระปรางค์) อยู่เมืองสวรรคโลกโน่น ซึ่งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เป็นเมืองเก่ารุ่นเดียวกับกรุงสุโขทัย ตัวเมืองตั้งอยู่ บนฝั่งขวาแม่น้ำยม ตรงแก่งหลวง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เมืองสวรรคโลกหรือเมืองเชลียง ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย
พระร่วงหลังรางปืน สุโขทัย เป็นพระพุทธยืนปางประทานพร ศิลปะสมัยลพบุรี มีหลังรางปืนเป็นเอกลักษณ์ประจำองค์พระ ทำให้ง่ายต่อการเรียกขานเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีรางปืน หลังเรียบหรือหลังลายผ้ากด เขาเรียกพระร่วงหลังลายผ้า ลพบุรี เพราะเป็นพระพิมพ์เดียวกันสำหรับการเรียกขานชื่อพระเครื่องนั้นโดยมากจะตั้งชื่อกรุตามความพอใจของขุดพบแต่ละที่ แต่ละแห่ง
มูลเหตุของพระร่วงหลังรางปืน ที่มีความสมบูรณ์แบบ คมชัด และไม่เว้าหรือแหว่ง เพราะเหตุว่าการเทหรือการหล่อ ของช่างใช้วิธีใช้แม่พิมพ์ไม้กดด้านหลัง โดยใช้แม่พิมพ์ 2 ชนิด (ตัวผู้-ตัวเมีย) มาประกบกันเข้า แล้วเทตะกั่วลงทางด้านเท้า (หมายถึงเอาด้านเศียรลงต่ำ) เนื้อตะกั่วจะแล่นไปทั่วแม่พิมพ์ ทำให้เกิดความสมบูรณ์และสวยงาม...